การฉีดพลาสติก คืออะไร

การฉีดพลาสติก คือ กระบวนการการผลิตชิ้นงานโดยอาศัยกรรมวิธีการเติมเม็ดพลาสติกเข้าไปในเครื่องฉีดพลาสติก  โดยการฉีดพลาสติกนั้นใช้เม็ดพลาสติกผ่านความร้อนและอ่อนตัวลงจนหลอมละลายเป็นของเหลวก่อน แล้วเครื่องฉีดพลาสติกจะทำการฉีดพลาสติกเหลวเข้าไปยังแม่พิมพ์ในเครื่องฉีดพลาสติก ที่ใช้สำหรับฉีดพลาสติกในรูปแบบต่างๆ หลังจากนั้นเครื่องฉีดพลาสติกจะปลดชิ้นงานฉีดพลาสติกออกจากแม่พิมพ์เครื่องฉีดพลาสติกเพียงเท่านี้ก็จะได้ชิ้นงานพลาสติกตามแบบแม่พิมพ์ที่ต้องการ

เครื่องฉีดพลาสติก (Injection Moulding Machine)

ในการทำงานฉีดพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทอร์โมพลาสติกนั้น มีบริษัทที่ผลิตเครื่องฉีดออกมาจำนวนมากมาย หลายแบบ ซึ่งไม่สามารถนำเอาแต่ละแบบมาแสดงในที่นี้ได้หมด ในหลักการแล้วเครื่องฉีดพลาสติกทั้งหลายจะแตกต่างกันเฉพาะรูปแบบ วัสดุที่ใช้ ระบบส่งกำลัง ส่วนจุดมุ่งหมายในการนำมาใช้งานนั้นจะคล้ายคลึงกันมาก เครื่องฉีดพลาสติกแบ่งตามลักษณะของทิศทางการฉีดได้ 4รูปแบบคือ

 

แบบA เป็นแบบทำงานตามแนวนอนพลาสติกไหลเข้าแบบเป็นเส้นตรงตามแนวนอน ตั้งฉากกับระนาบของแม่พิมพ์โดยชุดฉีดและหน่วยเปิด–ปิดแบบ อยู่ในทิศทางเดียวกัน แบบนี้จะเป็นแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด

แบบ B เป็นแบบหัวฉีดอยู่ในแนวตั้งแต่พลาสติกไหลเข้าแม่พิมพ์ในแนวนอน โดยพลาสติกเหลวที่ออกจากกระบอกสูบในแนว ดิ่ง แล้วจะเปลี่ยนทิศทางไป 90องศา ไปอยู่ในแนวนอนและไหลเข้าแบบในแนวตั้งฉากกับระนาบของแม่แบบเช่นเดียวกับแบบ A ส่วนแบบ B นั้นเป็นการออกแบบพิเศษในกรณีที่การทำงานสภาพปกติไม่สะดวกหรือเหมาะกับโรงงานที่มีพื้นที่จำกัด

แบบ C เป็นแบบทำงานในแนวดิ่ง โดยพลาสติกเหลวจะถูกฉีดลงในแนวดิ่งเข้าในแม่แบบในแนวตั้งฉากกับระนาบเปิด–ปิดแบบ

แบบ D เป็นแบบหัวฉีดอยู่ในแนวดิ่ง พลาสติกไหลเข้าแบบในแนวตั้งฉากกับทิศทางเปิด–ปิดแบบหรืออยู่ในแนวเดียวกับระนาบของแม่แบบ เครื่องฉีดแนวดิ่งแบบ Cและ D โดยปกติจะออกแบบไว้สำหรับการฉีดหุ้มชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ เช่นด้ามมีด ด้ามไขควง ฯลฯ เป็นต้น

ภาพที่ 1. ลักษณะของเครื่องฉีดแบบต่าง ๆ

เครื่องฉีดพลาสติกแบบต่าง ๆโดยทั่วไปจะประกอบด้วยส่วนสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือชุดฉีด ชุดปิด–เปิดแม่พิมพ์ และฐาน

โครงสร้างและการทำงานของเครื่องฉีดพลาสติก

เครื่องฉีดพลาสติกประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ

  1. ชุดฉีด(Injection Unit)
  2. ชุดปิด–เปิดแม่พิมพ์(Clamping Unit)
  3. ฐานเครื่อง(Base Unit)

  1. ชุดฉีด(Injection Unit)

การทำงานของชุดหัวฉีด เม็ดพลาสติกที่อยู่ในกรวยเติมจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อสกรูหมุนพาเม็ดพลาสติกออกไปที่กระบอกสูบ และเม็ดพลาสติกก็จะหลอมละลายในกระบอกสูบด้วยความร้อนจากฮีทเตอร์ (Heater) สกรูจะทำหน้าที่คลุกเคล้าเม็ดพลาสติกที่ละลายแล้วให้เป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมกับขับดันให้พลาสติกพุ่งออกจากหัวฉีดเข้าสู่แม่พิมพ์

 ชุดปิด-เปิดแม่พิมพ์ (Clamping Unit)

ทำหน้าที่เคลื่อนปิด-เปิดแม่พิมพ์ในจังหวะการทำงานของเครื่องฉีดพลาสติก โดยปกติแม่พิมพ์จะมีสองด้านประกบกัน โดยด้านที่พลาสติกเข้าจะเป็นด้านที่อยู่กับที่ และอีกด้านจะเป็นด้านเคลื่อนที่ ชุดปิด – เปิดแม่พิมพ์แบ่งออกเป็น 2 ระบบจะทำหน้าที่อัดแม่พิมพ์ให้แน่นเพื่อต้านความดันภายในขณะฉีด

กระบวนการฉีดพลาสติก (Injection Process)

การฉีดพลาสติก คือ การผลิตชิ้นงานโดยที่ใช้เม็ดพลาสติกป้อนเข้าเครื่องที่เครื่องฉีด และเครื่องฉีดจะหลอมละลายเม็ดพลาสติกแล้วฉีดพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์ ทำให้ได้ชิ้นงานรูปร่างตามแม่พิมพ์ จากนั้นก็จะปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์

หลักการทำงานในงานฉีดพลาสติกพลาสติกที่หลอมแล้วจะถูกฉีดเข้าแม่พิมพ์คงความดัน และอัดพลาสติกเข้าเต็มแม่พิมพ์และชิ้นงานจะถูกหล่อเย็นด้วยขณะฉีดแม่พิมพ์จะเปิดออก และปลดชิ้นงาน

ลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานฉีดพลาสติก ได้แก่ กล่องบรรจุอาหาร ขันน้ำ กะละมังพลาสติก โครงหรือชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่สำคัญผลิตจากชนิดต่าง ๆ ของเทอร์โมพลาสติกและมีใช้มากบางชนิด เช่น

เซลลูโลสอะซีเตท Celluloseacetate (CA)ใช้ทำกระดุม หวี เครื่องประดับ กรอบแว่นตา ด้ามมีด ด้ามช้อน ส้อม ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ของเด็กเล่น ส้นรองเท้าสตรี อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องเขียน เครื่องใช้ในบ้านเช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า วิทยุ โทรทัศน์ และโทรศัพท์ ฯลฯ

เซลลูโลสอะซีโตบิวทีเรท Celluloseacetobytyrate (CAB)ใช้ทำพวงมาลัยรถยนต์หรือหุ้มพวงมาลัยรถยนต์ ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ มือถือของกระเป๋า จอโทรทัศน์ มือถือของเครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงสวิทช์ไฟฟ้า

อีธิลเซลลูโลส Ethylcellulose (EC)ใช้ทำหลอดปั่นด้าย หุ้มพวงมาลัยรถยนต์ หูโทรศัพท์ ฯลฯ

โพลีสไตรีน แบบธรรมดา Polystyrene (PS1)ใช้ทำชิ้นส่วนก่อสร้าง ฉนวนของอุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคมที่ไม่ได้รับการกระทบกระแทกมาก เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องเขียน ชิ้นส่วนสำหรับการโฆษณา เครื่องประดับ ขวดโหล และภาชนะขนาดเล็ก

โพลีสไตรีน ชนิดทนความร้อน Polystyrene (PS2)ใช้ทำเครื่องมือในครัวที่ต้องถูกกับความร้อนบ้าง เช่น ช้อนส้อม มีด หลอดดูด ช้อนสลัด กล่องเก็บของในตู้เย็น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าเสริมสวย

โพลีสไตรีน ชนิดทนแรงกระแทก Polystyrene (PS3)ใช้ทำเรือนโทรทัศน์ วิทยุ โทรทัศน์ ประตูตู้เย็น ใช้เป็นสวิทช์ไฟ เครื่องใช้ในครัว ของเด็กเล่น ใช้หีบห่อ

สไตรีน-อะคริลไนตริว โคโพลีเมอรไรเซท Styrene – Acrylonitrile Copolymerisate (SAN)ใช้ทำเรือนและส่วนประกอบเครื่องใช้สำหรับรักษาความสะอาดบ้านเรือนและสำนักงาน วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องใช้ในบ้านและเครื่องครัวที่มีคุณภาพสูง

อะคริลไนตริว-บิวทาเดียน สไตรีน Acrylonitrile – Butadien – Styrene (ABS)ใช้ทำส่วนประกอบภายในรถยนต์ เรือนและส่วนประกอบของเครื่องใช้ในสำนักงาน โทรศัพท์ เครื่องใช้ในบ้านและในครัว ถังสำหรับขนส่งของเหลว เรือนและส่วนประกอบที่สำคัญของวิทยุ โทรทัศน์ เทปอัดเสียง และของเด็กเล่น

โพลีเมธิลเมทอะคริเลท Polymethymethacrylate (PMMA)ใช้ทำชิ้นส่วนของแว่นตา และเทคนิคการส่องสว่าง (เช่น เลนส์ โคมไฟต่าง ๆ) ปากกา ชิ้นส่วนทางเทคนิคและเสริมสวย หน้าปัดนาฬิกา ปุ่มจับหมุนของเครื่องพิมพ์ดีดและเครื่องดนตรี ฝาครอบเครื่องบิน หน้าปัดเครื่องมือวัดต่าง ๆ

โพลีไวนีลคาบาโซล Polyvinylcarbazol (PVZ)ใช้ทำเป็นฉนวนไฟฟ้า ตำแหน่งที่มีความร้อนสูง ในงานใช้ไฟแรงสูง

โพลีคาบอนเนท Polycabonate (PC)ใช้ทำฝาครอบและฉนวนดวงไฟสว่างที่ต้องการความแข็งแรงในช่วงอุณหภูมิสูง ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและรถยนต์ ใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน (ทางการแพทย์) หมวกกันน็อก อุปกรณ์ในครัวที่ต้องรับการกระทบกระแทกมา ใช้ทำเลนส์ เรือนเครื่องมือ ฝาครอบกล่องสวิทช์ไฟฟ้า ฯลฯ

โพลีไวนีลคลอไรด์ Polyvinylchloride PVC (uPVC)ใช้ทำอุปกรณ์ท่อ (Fittings) ชิ้นส่วนปั๊ม แผ่นเสียง ปะเก็น ฉนวนไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องใช้ในบ้านและในสำนักงาน

โพลีไวนีลคลอไรด์ Polyvinylchloride PVC (Flexible PVC)ใช้ทำปะเก็นต่าง ๆ ของเด็กเล่น รองเท้ากันน้ำ รองเท้าหนังเทียม ส่วนที่ได้รับแรงกระแทกของวิทยุ โทรศัพท์ ส่วนขาของอุปกรณ์ต่าง ๆ ส้นรองเท้า ปุ่มและมือจับต่าง ๆ ภายในรถยนต์

โพลีอะไมด์ Polyamide (PA)ใช้ทำชิ้นส่วนทางเทคนิคทุกชนิด (เรือนเครื่อง ใบพัดเรือ ใบพัดลม ชิ้นส่วนงานท่อ ถังขนส่งของเหลว มือจับเปิด-ปิดประตู) เฟือง เรือนแบริ่ง กรอบบังคับลูกปืนแบริ่ง ชิ้นส่วนข้อต่อ (coupling) หมวกกันน็อค เครื่องมือแพทย์

โพลียูเรเทน Polyurethane (PUR)ใช้ทำชิ้นส่วนใช้งานทั่วไปและชิ้นส่วนทางเทคนิคที่ต้องการความแข็งแรงและการคงรูปสูง ชิ้นส่วนเครื่องซักล้าง ฉนวนไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องดูดฝุ่น ชิ้นส่วนแบริ่งที่ทนการเสียดสีสูง เฟือง ของเด็กเล่น และปะเก็นต่าง ๆ

โพลีเอททีลีน ชนิด Low Pressure Polyehyleme; high density (HDPE)ใช้ทำเครื่องใช้ในบ้าน (เช่น กระจาด ถัง อ่าง ตะกร้า) ของเด็กเล่น ถังขนส่งของเหลว ขวด ชิ้นส่วนใช้กับไฟแรงสูง เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนทางเทคนิค เรือนเครื่องและกล่องต่าง ๆ

โพลีเอททีลีน ชนิดHigh Pressure Polyehyleme; low density (LDPE)ใช้ทำใช้ทำเครื่องใช้ในบ้าน (เช่น กระจาด ถัง เป็นต้น) ของเด็กเล่น ดอกไม้เทียม หีบห่อของ ขวด เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนใช้กับไฟแรงสูง

โพลีทริฟลูออคลอเอททีลีน Polytrifluorchloethylene (PTFCE)ใช้ทำชิ้นส่วนของอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้กับเคมี ใช้ทำก๊อก วาล์ว แบริ่ง แผ่นรองเลื่อน เฟือง แหวนลูกสูบ ปะเก็น ส่วนประกอบในเครื่องไฟฟ้า

โพลีโปรพิลีน Polypropylene (PP)ใช้ทำเครื่องใช้ในบ้าน (เช่น ถัง กระจาด อ่าง ตะกร้า และขวด ฯลฯ) ของเด็กเล่น ชิ้นส่วนงานละเอียดและชิ้นส่วนทางไฟฟ้า หมวกกันน็อก ส้นรองเท้าสตรี